วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

10 เหตุผลดีๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับ ภาษาฝรั่งเศส

10 เหตุผลดีๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับ ภาษาฝรั่งเศส
1. ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่มีคนใช้พูดเป็นภาษาแม่และภาษาที่สองถึง 128 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส แคนาดา(รัฐควิเบก) สวิซเซอแลนด์ เบลเยี่ยม นอกจากนี้ทางฝั่งแอฟริกาก็มีประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
ควิเบก,แคนาดา
เบลเยี่ยม
2. ฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ประเทศฝรั่งเศสยังเป็นแม่แบบในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งถ้าน้องๆสนใจที่จะเรียนต่อในด้านนิติศาสตร์แล้วละก็การมีความรู้ในด้านภาษาฝรั่งเศสไว้นั้น นับว่าได้เปรียบคนอื่นอยู่มากๆเลยทีเดียว
3. ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทษที่มีชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรม ทั้งด้านอาหาร แฟชั่น ศิลปกรรม ภาพยนตร์และวรรณกรรมต่างๆมากมาย เพราะฉะนั้นแล้ว น้องๆที่มีความสนใจทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ก็ไม่ควรพลาดที่จะมีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสไว้ประดับสมองเลยจ้า
4. ครั้งหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ถ้ามีโอกาสได้ท่องเที่ยวในต่างประเทศ รับรองว่าหนึ่งในประเทศที่น้องใฝ่ฝันต้องมีประเทศฝรั่งเศสอยู่แน่นอน เพราะประเทศฝรั่งเศสมีสถานที่ที่น่าท่องเที่ยวมากมาย เช่น กรุงปารีส พระราชวังแวร์ซาย พิพิธภัณฑ์ลูฟ และสถานที่น่าสนใจในแคว้นต่างๆอีกมากมาย
พระราชวังแวร์ซาย
พิพิธภัณฑ์ลูฟ
5. รัฐบาลฝรั่งเศสมีนโยบายมอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท หรือที่เรียกกันว่า ทุนไอเฟล ให้นักเรียนต่างชาติรวมถึงนักเรียนไทย ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในมหาลัยของประเทศฝรั่งเศส ในสาขาวิชาต่างๆมากมาย เช่น วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีทุน Haif scholarships ซึ่งเป็นทุนศึกษาในระดับปริญญาเอกอีกด้วย
6. ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการขององค์กรณ์ระหว่างประเทศที่สำคัญหลายองค์กรณ์ เช่นสหประชาชาติ สหภาพยุโรป องค์การยูเนสโก้ และยังเป็นภาษาที่ใช้ใน 3 เมืองสำคัญของทวีปยุโรป นั่นคือ Strasbourg , Bruxells , Luxemburg
7. ภาษาฝรั่งเศสมีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ในโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการที่เรารู้ภาษาฝรั่งเศสก็จะทำให้เราสามารถรับรู้และเข้าใจข่าวสารของหลายๆประเทศในโลก
8. ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ชาวยุโรปส่วนใหญ่จึงนิยมเรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นไม่ว่าน้องจะหลงอยู่ในประเทศใดในนยุโรป ถ้าน้องสามารถสื่อสารภาษาฝรั่งเศสได้ โอกาสที่น้องจะเอาตัวรอดได้มีสูงมาก
9. การเข้าใจภาษาฝรั่งเศสสามารถช่วยต่อยอดในการเรียนภาษาอื่นๆ เพราะภาษาฝรั่งเศสทีรากศัพท์มาจากภาษาละติน และกว่า 50% ของภาษาอังกฤษในปัจจุบัน มีส่วนคล้ายกับภาษาฝรั่งเศส นับว่าเป็นโอกาสดีของเด็กไทยที่จะเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสได้ง่ายขึ้น
10. ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ไพเราะมาก จนถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ดังนั้นภาษาฝรั่งเศสจึงถูกเรียกว่าเป็นภาษาแห่งความรักกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้เมื่อน้องได้เรียนภาษาฝรั่งเศสแล้ว น้องจะสามารถอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ความงาม ไวน์ ขนมปัง เมนูอาหาร และอีกมากมายได้ คิดดูสิจ๊ะว่าการมีภาษาฝรั่งเศสประดับหัวสมองนั้น ไม่มีคำว่า เสียเปรียบใครแน่นอนจ้า =D

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มารยาทแบบเยอรมัน

มารยาทที่ควรรู้สำหรับการใช้ชีวิตที่เยอรมัน


1.   นัดก่อนเสมอ

คนเยอรมันเคร่งครัดเรื่องเวลาและความเป็นส่วนตัว  ก่อนที่จะไปหาใครไม่ว่าที่ทำงานหรือที่บ้านให้ส่งเมลไปนัดก่อนเสมอ เพื่อที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งมีเวลาตั้งตัว  อย่าจู่ ๆ โผล่พรวดเข้าไปเพราะจะทำให้เกิดความตกใจ โกลาหล  อลหม่าน  และจะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดี


2.  อย่าทำให้ใครหยุดชะงักกลางทาง

เมื่อคนเยอรมันเริ่มออกจากอาคารแล้วกำลังมุ่งหน้าไปที่ใดสักแห่งอย่าได้พยายามทักเพื่อให้เขาหยุดเดินแล้วมาสนใจเรา  เพราะก่อนออกจากอาคารเขาได้เช็คตารางการเดินรถเมล์หรือรถไฟไว้แล้ว  และเขากะแล้วว่าเมื่อเริ่มออกจากอาคารเวลานี้จะต้องไปทันรถแน่ ๆ  หากเราทำให้เขาชะงัก  เขาจะเสียเวลาไปไม่ทันรถ  เขาจะโกรธเอาได้  ทางที่ดีควรเดินไปคุยกันไป  หรือรอให้ไปถึงสถานีรถไฟฟ้าก่อนแล้วค่อยคุย  หรืออาจจะคุยกันในรถไฟฟ้าก็จะดีกว่า  เพราะเขาจะมีเวลาคุยด้วยเต็มที่หลังจากขึ้นรถแล้ว


3.  อย่าเรียกชื่อหน้า

คนไทยนิยมเรียกชื่อหน้า เช่น คมสัน  แต่เราจะเรียกชื่อหน้าของชาวเยอรมันไม่ได้ถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทกัน  เช่น  ดร. กุนเธ่อร์ มันสเก้  เราจะต้องเรียกว่า ดร. มันสเก้  ไม่ใช่  ดร. กุนเธ่อร์  


4. ให้จับมือด้วยทุกครั้ง

ชาวเยอรมันถือเรื่องการจับมือ  อย่างน้อยในการทักทายควรยื่นมือขวาให้อีกฝ่ายหนึ่งจับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง  ไม่ต้องคิดว่าจะเป็นการแต๊ะอั๋ง เพราะไม่มีใครคิดอย่างนั้นกัน  ถ้าไม่ยอมจับมือจะเป็นการแสดงความรังเกียจอีกฝ่าย  เวลาจับมือให้บีบแรงพอสมควร อย่าเกรงใจจนไม่ออกแรงบีบมือเลย  เพราะคนเยอรมันจะถือว่าเหมือนกับเราไม่พอใจจะจับมือเขา   แต่ก็อย่าบีบแรงเกินไปจนอีกฝ่ายหนึ่งเจ็บ


5.  อย่าใส่หมวกเข้าไปในอาคาร

ให้ถอดหมวกทุกครั้งที่เข้าไปในอาคาร  และหากพบกับใครนอกอาคาร  ก็ควรถอดหมวกออกก่อนในเวลาที่กล่าวทักทายกันแล้วใส่กลับไปใหม่



6.  ชายหญิงเท่าเทียมกัน

อย่าพยายามมองว่าหญิงชาวเยอรมันจะทำอะไรสู้ผู้ชายไม่ได้  บางทีเมื่อเราอยู่บนรถเมล์แล้วเห็นผู้หญิงยืนอยู่แล้วเราลุกให้เขานั่ง  ถือว่าเป็นการสบประมาท  เพราะเขาจะมองว่าเราดูถูกความสามารถของเขา  เนื่องจากเขาถือว่าชายหญิงแข็งแรงเท่ากัน  หญิงเยอรมันสร้างชาติกลับคืนมาหลังจากความพินาศย่อยยับหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  และนายกรัฐมนตรีก็เป็นหญิง (นางอังเกล่า แมเกิ้ล)



7.  อย่าลัดคิวเด็ดขาด

คนเยอรมันถือเรื่องคิวมาก ๆ   ใครบังอาจลัดคิวมีเรื่องถึงเรียกตำรวจมาตักเตือน  หรือไม่ทุกคนก็จะมองอย่างรังเกียจ  
  


8.  การแยกขยะถือเป็นมารยาทสำคัญ

ถังขยะที่เยอรมันจะมีหลายสีสำหรับขยะหลายประเภท  เช่น  กระดาษ  พลาสติก  แก้ว และเศษขยะ   การทิ้งขยะในถังขยะไม่ถูกประเภทจะถูกมองว่าเป็นคนไร้การศึกษา  เพราะชาวเยอรมันได้รับการสอนเรื่องการแยกขยะมาตั้งแต่เด็ก


9.   คนเยอรมันรักความสะอาด

อย่าพยายามทำให้ห้องรกรุงรัง  ทั้งห้องทำงานและห้องที่บ้านพัก  เพราะถ้าเพื่อน ๆ เข้ามาเห็นสภาพความรกรุงรังแล้วจะรับไม่ได้  เพราะคนเยอรมันชอบความสะอาด  ชาวเยอรมันจะชอบให้ทุกอย่างสะอาดแบบหมดจดทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนตัว   ดังนั้นเราต้องหมั่นทำความสะอาดห้องต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราอยู่เสมอ


10.  อย่าข้ามถนนในที่ ๆ ไม่ได้จัดไว้ให้ข้าม

คนจะข้ามถนนได้ก็ต่อเมื่อมีทางม้าลายและมีสัญญาณไฟให้ข้ามได้เท่านั้น  ก่อนข้ามเราต้องกดขอสัญญาณก่อน จากนั้นรอสักพักจะมีไฟเขียวให้เราข้ามได้  หากยังเป็นไฟแดงแม้ว่าไม่มีรถก็อย่าข้าม  เพราะหนึ่ง  อาจจะมีรถมาอย่างเร็วมากและชนเราได้  เขาจะไม่ผิดด้วย  เพราะสัญญาณบอกให้เขาไปได้  และสอง  อาจมีตำรวจดักปรับเราอยู่อีกฝั่งหนึ่ง



11. ก่อนเข้าไปซื้อของ  ถ้ามีกระเป๋าให้ฝากไว้ที่ล็อคเกอร์ก่อน

สังเกตว่าซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งจะมีล็อคเกอร์จัดไว้ให้ลูกค้า  เราต้องมีเหรียญ 1 ยูโรติดตัวไว้  เพื่อที่จะเอาไว้เช่าล็อคเกอร์ (จะได้คืนเมื่อกลับมาเอาของ)  หากไม่ยอมฝากของไว้ก่อน  ตอนออกมาจ่ายเงินจะถูกค้นกระเป๋า  ทำให้เสียเวลามาก  และเกิดความหงุดหงิดทั้งเราและทั้งฝ่ายผู้ขาย    นอกเสียจากบางห้างที่มีระบบกันขโมยอยู่แล้วจะไม่ต้องฝากกระเป๋า  เพราะถ้าใครหยิบอะไรติดออกมาโดยไม่จ่ายเงินรับรองมีเสียงดังเกิดขึ้นแน่นอน



12. เวลาทักคนเยอรมัน ควรเริ่มทักเป็นภาษาเยอรมัน

อย่าคิดว่าคนเยอรมันจะรู้ภาษาอังกฤษ  เขาอาจจะรู้บ้างแต่ไม่รู้มาก  เมื่อเขาเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาติเขาจะไม่เข้ามาทักเราก่อนค่อนข้างแน่นอน เพราะกลัวว่าจะพูดอังกฤษไม่ถูก  ดังนั้น  เราจึงควรแสดงความเป็นมิตรก่อนโดยการพูดภาษาเยอรมันสักคำ เช่น  กู๊ด-เท่น-ท๊าค  แปลว่าสวัสดีครับ หรือสวัสดีค่ะ  อย่างน้อยเขาเห็นว่าเรามาแบบเป็นมิตร  คนเยอรมันก็จะพยายามช่วยเรา  โดยปกติคนเยอรมันจะใจดี  แต่เขากลัวว่าจะสื่อสารกับเราไม่รู้เรื่องเพราะเป็นเขาเองที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ



13.  เวลาพูดกับคนเยอรมันอย่าเยิ่นเย้อ  ให้ตรงประเด็นไปเลย

คนเยอรมันเป็นคนตรง ๆ ไม่ชอบเวลาใครพูดอะไรเยิ่นเย้อ  ถ้าเราอยากจะขออะไรจากคนเยอรมันก็ขอตรง ๆ  ถ้าเขาทำได้ก็จะบอกว่าได้  ถ้าไม่ได้ก็จะบอกว่าไม่ได้  ไม่มีคำตอบแบบห้าสิบห้าสิบชนิดที่ต้องมาตีความกันว่าตกลงเขาจะให้หรือไม่ให้ อะไรอย่างนี้คนเยอรมันไม่มี    ภาษาอังกฤษแบบสุภาพและวกไปวนมากว่าจะเข้าเรื่องนั้นอาจจะดีหากใช้กับคนอังกฤษ  แต่สำหรับคนเยอรมันแล้วจะคิดว่า "นี่เขาต้องการอะไรกันแน่  เห็นฉันเป็นตัวตลกหรือมีเวลาว่างมากนักหรืออย่างไร ถึงได้พูดเสียอ้อมค้อมอย่างนั้น"  สรุปแล้วตรงไปตรงมากับคนเยอรมันจะดีที่สุด


14.  ต้องมีเหตุผล

ถึงคนเยอรมันจะเป็นคนตรง ๆ  ขออะไรก็ขอได้ตรง ๆ แต่ต้องมีเหตุผล  ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ มาขอโดยไม่มีเหตุผล  เขาจะไม่ยอมให้แน่   คนเยอรมันต้องการเหตุผลที่เป็นความจริง (Fact)  มากกว่าเหตุผลที่เป็นความรู้สึก   เราจึงต้องบอกว่า  เพราะอย่างนี้มันถึงต้องมาขอ  ไม่ใช่บอกว่า ขอเถ๊อะ ขอเถ๊อะ ขอช่วยเราหน่อยเถ๊อะ  แบบนี้คนเยอรมันจะว่าท่าจะบ้า  ไม่มีเหตุผลเอาซะเลย  แบบนี้คงช่วยไม่ได้


15.  ทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

คนเยอรมันเวลาจะทำอะไรนั้นจะประชุมกันก่อน  เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็จะลงมือปฏิบัติตามนั้นแบบเป๊ะ ๆ  ไม่มีการนอกคอก  หากใครเกิดนอกคอกคนอื่นจะงงทันทีว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น  ไหนพูดกันไว้แล้วทำไมถึงไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้  จะเกิดความสับสนทันที   ดังนั้นหากต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรควรต้องกลับมาประชุมกันอีกครั้งก่อนเพื่อตกลงกันใหม่  ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ทำตามใจตัวเองทันที


16. อย่าพูดเล่นถ้าไม่สนิท

คนเยอรมันถือว่าความจริงจังเป็นมารยาททางสังคม  หากไม่ใช่เพื่อนสนิทกันอย่าพยายามพูดเรื่องตลก  โจ๊ก หรือเรื่องล้อเล่นใด ๆ อย่างเด็ดขาด เขาจะมองว่าเราเป็นคนต่ำชั้นกว่าทันที  ในการนำเสนออะไรให้คนเยอรมันฟังต้องเคร่งครัดเรื่องโครงสร้างการนำเสนอ  ใช้คำพูด ท่าทาง และน้ำเสียงที่จริงจัง  นำเสนอแต่ข้อมูลที่เป็นความจริง (Fact)  อะไรที่คาดเดาเอาเองไม่ให้นำเสนอ  และอะไรที่เป็นมุขตลกอย่าได้นำเสนอ    แต่ถ้าเมื่อไรสนิทกันแล้วคนเยอรมันจะกลายเป็นคนที่สนุกสนานและเอาแต่คุยเรื่องตลก  ก็แปลกดี


17. คนเยอรมันตัดสินใจด้วยข้อมูลรอบด้าน

อย่าได้ให้ข้อมูลด้านเดียว   จงให้ข้อมูลทุกเรื่องและทั้งด้านดีและด้านไม่ดี   เช่น  หากมีคนสมัครเข้าทำงานอยู่ 10 คน  อย่ากระโจนบอกว่าคนที่ดีคือคนที่ 1 3 และ 5  แต่จงไล่มาทีละคนว่าคนแรกเป็นใคร ดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร     ต่อมาคนที่สองเป็นอย่างไร ดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร   ทำอย่างนี้จนครบทุกคน  จากนั้นให้สร้างเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินขึ้นมา  แล้วตัดสินไปตามเกณฑ์    ทำอย่างนี้อาจจะใช้เวลามากสักหน่อย  แต่คนเยอรมันอดทนที่จะฟังข้อมูลให้ครบทุกด้านได้อย่างน่าประหลาดใจ  เขาจะไม่พยายามตัดสินใจถ้าไม่ได้ฟังครบทุกด้านก่อน
 

18.  รักษาตำแหน่งของตัวเอง

เมื่อคนเยอรมันได้รับมอบหมายให้ทำอะไรในตำแหน่งไหนแล้ว เขาจะรับผิดชอบในตำแหน่งนั้นอย่างถึงที่สุด  ไม่ทิ้งตำแหน่งของตัวเอง  นั่นคือการทำงานแบบเป็นกลไก (mechanism) สไตล์เยอรมันขนานแท้   เมื่อกลไกส่วนอื่นส่งงานมาให้เขา  ทุกคนจะคาดหวังได้ว่าเขาจะต้องสานต่อได้  เหมือนสายพานการผลิต  ไม่มีใครที่อยู่ ๆ ก็หายไปจากตำแหน่งของตัวเอง      วิธีคิดเช่นนี้สังเกตได้ในการเล่นฟุตบอลของทีมชาติเยอรมัน  อาจจะดูแข็ง ๆ และไร้จินตนาการ  แต่ทุกคนรักษาตำแหน่งอย่างแข็งขันและเป็นระเบียบ   แต่ข้อเสียของระบบนี้ก็คือหากมีใครหายไปสักตำแหน่งก็รวนกันทั้งระบบ  ดูอย่างตอนที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สองก็เพราะบางตำแหน่งโดนโจมตีพังไป  ทำให้ต่อเกมส์กันไม่ติด  ไม่มีการรวมศูนย์การตัดสินใจที่สามารถปรับเปลี่ยนระบบได้อย่างยืดหยุ่นพอ  เมื่อต่างคนต่างคิดว่าจะเอาอย่างไรต่อไปก็ไม่ทันเสียแล้ว



19.  งานมาก่อน ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาทีหลัง

เวลาทำงานกับคนเยอรมัน  เริ่มต้นมาก็ให้แนะนำตัวแค่บอกชื่อตัวเองก็พอ  อย่าเสียเวลาคุยเรื่องส่วนตัวนาน  ให้เข้าเรื่องงานเลยว่าตกลงพวกเราต้องทำอะไรกันบ้าง  แล้วก็ตกลงว่าเราควรจะทำอย่างไร  จากนั้นก็ทำไปตามที่ตกลงกัน    เพื่อนเยอรมันคนหนึ่งเคยไปสิงคโปร์บอกว่ากว่าจะเริ่มงานได้  ชาวสิงคโปร์พูดคุยทำความรู้จักกันนานมาก  จนเขารำคาญ  ผมก็ว่ามันไม่เหมือนกัน  ที่เอเชีย ความสัมพันธ์มาก่อน  งานมาทีหลัง   ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดีงานจะไม่เดิน   เพื่อนเยอรมันก็บอกว่าที่เยอรมันงานมาก่อน  ความสัมพันธ์มาทีหลัง   ถ้างานสำเร็จเสร็จเรียบร้อยแล้ว  คนเยอรมันจะแสดงความเป็นมิตร เช่น  พูดชวนไปทานกาแฟ  เป็นต้น  นั่นแสดงว่าเขาเปิดใจมาให้เราเป็นมิตรกับเขาแล้ว



20. ไม่ต้องกังวลถ้าคนเยอรมันไม่พูดชมซึ่งหน้า  แต่เขาจะช่วยเราในเวลาคับขัน

คนเยอรมันเวลาชื่นชมผลงานของใครจะไม่พูดออกมาตรง ๆ ว่าชอบ    แต่จะแสดงออกว่าชอบคน ๆ นี้โดยการหยิบยื่นช่วยเหลือให้ในยามคับขัน   ดังนั้นไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้คำพูดหวาน ๆ จากคนเยอรมัน   แต่พวกเขากลับสามารถพึ่งพาได้อย่างดียิ่งเมื่อเกิดเรื่องร้ายแรงที่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือ  แต่ถ้าอยากรู้จากปากของเขาว่าเขาชอบงานของเราไหม  ให้เอ่ยชมงานของเขาก่อน  แล้วเขาจะเปิดใจพูดถึงงานเราบ้าง