วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นี่คือ 9 เหตุผลที่เด็กยุคใหม่ ไม่อยากคุยกับพ่อแม่!

            ยุคสมัยนี้พ่อแม่ทำงานนอกบ้านกัน หมด และครอบครัวในสังคมยุคใหม่ก็เริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีเพียงพ่อแม่และลูก ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน หรือบางครอบครัวอยู่บ้านใหญ่ในต่างจังหวัด พอเด็กเข้ามัธยมก็ส่งเข้ามาเรียนในโรงเรียนดังๆ ในเมืองหรือในกรุงเทพ ทำให้ลูกๆ ต้องใช้ชีวิตด้วยตนเอง หลายๆ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายคน ห่างการพูดคุยอย่างเข้าใจกับพ่อแม่ พอบางครั้งมีเรื่องที่ลูกอยากปรึกษาหรืออยากคุยด้วย ก็เขินอาย เกรงใจกว่าที่จะเข้าไปพูดกับพ่อแม่โดยตรง หรืออายเกินกว่าที่จะแสดงความรัก ...


จริงไหม? นี่คือ 9 เหตุผลที่เด็กยุคใหม่ ไม่อยากคุยกับพ่อแม่! แต่ ประเด็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่แค่ว่าวัยรุ่นไม่กล้าแสดงความรักต่อพ่อแม่เท่านั้น เพราะบางครั้งเมื่อวัยรุ่นเกิดปัญหา อยากปรึกษาใครสักคน ก็ไม่กล้าเล่ากล้า คุยกับพ่อแม่เช่นกัน วัยรุ่นไม่ได้มองว่าพ่อแม่เป็นคนแปลก หน้า หรือ ไม่อยากปรึกษา แต่นอกจากปัจจัยข้างต้นที่ทำให้ห่างพ่อแม่โดยปริยายแล้ว สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลูกวัยรุ่นเกิดความคิดว่า การพูดกับพ่อแม่ให้เข้าใจ...เป็นเรื่องยากเกินไป นี่คือ 9 เหตุที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่ค่อยอยากพูดกับพ่อแม่

 
1. เกรงใจพ่อแม่ เห็นทำงานมาเหนื่อยๆ 
 
           บางทีลูกก็อยากเล่าใจจะขาด แต่เห็นพ่อแม่กลับมาบ้านเหนื่อยๆ กลัวไปสร้างความรำคาญให้พ่อแม่ เกรงใจมากๆ เข้า เลยเป็นการเลี่ยงการพูดคุยกับพ่อแม่ไปโดยปริยาย พอจะกลับไปคุยด้วย ก็เขินอายเลยเลิกคุยไปด้วยก็มี ส่วนพ่อแม่ก็วางใจนึกว่าลูกยังสบายดี โตแล้ว ดูแลตัวเองได้ดี เลยไม่มาชวนลูกกๆคุย กลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างเบนออกจากกันและกันโดยไม่รู้ตัว

 
2. ชอบนำไปเล่าต่อ

              เล่าต่อยังไม่เท่าไหร่ ถ้าเอาไปคุยข่มทับคนอื่น หรือเอาไปยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ว่าในทางข่มหรือถ่อมตน สำหรับวัยรุ่นก็รู้สึกว่าพ่อแม่กำลังแฉความลับของตัวเอง ถ้าได้ยินด้วยต่อหน้าก็ยิ่งรู้สึกวางหน้าไม่ถูก กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องดูว่าลูกของตัวเองนิสัยเป็นอย่างไร ขี้อายหรือไม่ถนัดรับมือกับการถูกกล่าวถึงหรือเปล่าด้วย เพราะเหตุของการที่ผู้ใหญ่นำไปเล่าต่อข้อนี้ มักทำให้วัยรุ่นปิดปากไม่พูดเรื่องของตัวเองมากยิ่งขึ้นเลย
 

3. เจ้ากี้เจ้าการ จู้จี้ขี้บ่น หยุมหยิมกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
 
               ช่องว่างระหว่างวัย ความสนใจของผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่ไม่เหมือนกัน รวมกับพัฒนาการของวัยรุ่นที่เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า ทำให้บางทีก็ไม่เป็นที่พอใจของผู้ใหญ่นัก แต่ในทางกลับกันมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มีเหตุผลในความคิดของวัยรุ่น อย่างการลุกไปทำตามคำสั่งพ่อแม่ช้า "ออกไปซื้อของให้แม่หน่อย" วัย รุ่นอาจกำลังทำอะไร (เช่น ทำการบ้าน) ติดพันทำให้เขาลุกไปทำตามคำสั่งไม่ได้ทันที ซึ่งไม่ได้ตั้งใจชักช้าอืดถืด แต่เมื่อแม่เรียกและลูกช้าเข้าสักครั้งสองครั้ง แม่ก็คิดว่าลูกขี้เกียจทำตามคำสั่งแม่ และเหมารวมบ่นยาวทุกเรื่องทุกครั้งที่เรียกใช้งาน กลายเป็นคุณแม่ขี้บ่นไป ลูกวัยรุ่นก็ไม่เข้าใจว่าทำผิดอะไร ทำไมต้องจู้จี้ขี้บ่นกับเรื่องไม่เป็นเรื่องแบบนี้ทุกครั้ง
             
              กรณีการเรียกใช้งานนี้ก็แก้ไขได้ง่ายๆ  แม่ผู้ใหญ่ควรถามว่า ลูกว่างไหม ช่วยแม่ไปซื้อของได้หรือเปล่า แม่ต้องรีบใช้งานด่วน เดี๋ยวกับข้าวไหม้ ถ้าลูกได้ยินว่าแม่ค่อนข้างรีบเร่ง ก็จะกระตุ้นลูกได้ และฝ่ายลูกก็ควรตอบกลับทันทีว่า ขอผม/หนูทำการบ้านอีก 1 ข้อ แล้วรีบลงไป หรือติดพันอะไรอยู่ก็เร่งตอบกลับไปก่อน ไม่ควรเงียบหายไปเลย เพราะผู้ใหญ่ก็จะนึกว่าเราไม่สนใจท่าน
 
4. ยังฟังไม่จบ ก็จ้องจับผิดอย่างเดียวเลย 
 
         พ่อแม่ตั้งใจฟังลูก แต่ก็ฟังไปถามไป จับผิดไป สอนไป เล่าไม่ถึงไหนก็ถูกขัด "อ้าว แล้วเราไปทำแบบนั้นทำไมล่ะ" "นี่ลูกแย่เองหรือเปล่า" "ดูมา มาคิดอีกแบบนะ" คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่เหมาะสมตามแต่กรณีไปค่ะ แต่ไม่ใช่กับการฟังลูกที่ยังพูดไม่จบ เพราะวัยรุ่นจะคิดว่า "นี่เรายังพูดไม่ทันจบ ก็หาว่าเราผิดซะแล้ว นี่ก็สอนอย่างเดียว นี่เราทำอะไรก็ผิดไปหมด ต่อไปเลิกพูดดีกว่า น่าเบื่อ" 

 
5. ถึงพ่อแม่จะฟัง แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจฟังเราเลย

      ข้อนี้ต่างจากฟังแล้วจับผิดนะคะ เพราะการฟังในข้อนี้คือการไม่ตั้งใจฟัง เหมือนฟังให้มันจบๆ ผ่านๆไป แต่ จริงๆ เมื่อเรารู้สึกอยากเล่าอะไรมากๆ ตื่นเต้นมากๆ ให้ใครฟังสักคน แต่เขาไม่สนใจฟังเรา แม้จะไม่ได้บอกปัดใดๆ ก็ตาม ก็ทำให้อาการอยากเล่าอยากคุยลดหายไปค่ะ ยิ่งสำหรับพ่อแม่ ซึ่งเป็นคนที่ลูกรักแล้ว การรู้สึกว่าท่านไม่ฟังเราเลย ยิ่งทำให้กำลังใจเราลดลงไปอีกหลายร้อยส่วนเลย แล้วถ้าลูกรู้สึกแบบนี้เข้าบ่อยๆ ก็ไม่อยากเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังอีก เพราะรู้สึกว่า เล่าไปพ่อแม่ก็ไม่สนใจ 

6. จู่ๆ ก็มาถาม มีนัยให้ รู้สึกว่ากำลังถูกจับผิด  

              ข้อที่ผ่านๆ มา อาจจะสำหรับบางครอบครัวที่ยังมีการพูดการเล่าการฟังลูกวัยรุ่น แต่ถ้าเงียบๆ กันไปสักพักแล้ว จู่ๆ ก็มาถามไถ่กัน ลูกอาจตั้งด่านวางกำแพงระแหวงพ่อแม่ไว้ก่อน ยิ่งถ้าเคยมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ชอบจับผิดตัวเองด้วยแล้ว ลูกยิ่งรู้สึกได้ง่ายว่าพ่อแม่หวังจะสืบราชการลับเรื่องของเราหรือเปล่า (ฮา) แต่ลูกๆ วัยรุ่นคะ จริงๆ พ่อแม่อาจแค่เป็นห่วงและอยากคุยกับลูกบ้างเท่านั้นเองจริงๆ ค่ะ ถ้าท่านมาคุยกับเรา ก็อยากเพิ่งตั้งป้อมใส่สีหน้ารำคาญ ฟังท่านเถอะ เราอยากให้ท่านฟังเรามากเท่าไหร่ เราก็เริ่มต้นที่เราฟังท่านก่อนได้ ย้ำ! สีหน้ามักมาก่อนปากขยับ ระวังอย่าชักสีหน้าใส่อีกฝ่าย ไม่ว่าจะเด็กกว่าหรือผู้ใหญ่กว่า

7. พอให้เราแสดงความคิดเห็น แล้วก็ไม่ยอมฟัง

              จับผิดยังไม่พอ พูดอะไรไปแล้วยังปัดทิ้ง  วัยรุ่นจะคิดว่า "แล้ว ถามเรา ให้เราเสนอความเห็น แต่เสนอทีไรก็ปัดทิ้ง ไม่มีเหตุผลสักครั้ง ไม่รู้ว่าทำไมไม่ดีสักอย่าง ขี้เกียจเสนออะไรแล้ว ไม่พูดดีกว่า" จริงๆ หากข้อเสนอของวัยรุ่นไม่เหมาะสมเพียงพอกับบางสถานการณ์ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำมากกว่าคือ ควรบอกด้วยว่า ทำไมสิ่งที่ลูกเสนอนั้นยังไม่เหมาะสมเพียงพอ และจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ให้โอกาสลูกได้เสนออีกครั้งค่ะ แน่นอนว่าวัยรุ่นต้องให้ความร่วมมือในการฟังเหตุผลฝ่ายผู้ใหญ่ด้วย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป มักกลายเป็นว่า พ่อแม่บอกปัดลูกโดยที่ไม่ชี้แจงสาเหตุ ลูกก็รำคาญพ่อแม่ที่พ่อแม่ไม่ฟังตัวเอง แต่จริงๆ สิ่งที่ทั้งฝ่ายลืมไป คือ การบอกให้เข้าใจกันค่ะ เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจตัวเองได้เอง ลูกที่เด็กกว่ามักเงียบเพราะรำคาญ และไม่อยากทะเลาะกับพ่อแม่ และต่อๆ ไปก็จะเลิกพูดดีกว่า และยังไม่เสียใจที่ถูกปฏิเสธด้วย 


8. เวลาดีๆ ไม่ยอมมาพูด ต้องมาพูดตอนเครียดๆ
           
            บางทีเวลาวัยรุ่นอยู่หน้าคอม อยู่ที่โต๊ะทำการบ้าน พ่อแม่ก็ไม่รู้หรอกค่ะ ว่าลูกวัยรุ่นกำลังทำอะไรสำคัญอยู่หรือเปล่า (อยู่หน้าคอม ก็คิดว่าเล่นคอมเฉยๆ ก็ได้ใช่ไหมล่ะคะ) ดังนั้นพอพ่อแม่มาขัดเราเวลาเรากำลังยุ่งๆ วัยรุ่นก็ทำหน้าตึงใส่ทันที แทนที่จะเริ่มต้นคุยกันในบรรยากาศดี ๆ สบาย ๆ ไม่กดดัน ก็กลายเป็นว่าเริ่มต้นกันด้วยการที่ฝ่ายหนึ่งชักสีหน้าใส่แล้ว เป้นแบบนี้เข้าหลายๆ ครั้ง ต่างฝ่ายต้องต่างอยากจะเลิกคุยกันแน่นอน 

 
9. อยากให้ปรึกษาได้ทุกเวลา แต่บางทีก็ยุ่งเกินไปทุกครั้ง 


          เช่นเดียวกับข้อเกรงใจ อาจเพราะเวลาไม่ตรงกัน กว่าพ่อแม่จะกลับมาบ้าน หรือกว่าลูกจะทำการบ้านเสร็จตอนดึกดื่น ลูก เองก็พบพ่อแม่ตอนท่านเหนื่อยๆ หรือเพิ่งกลับจากทำงาน ลูกอยากจะเล่าจะคุยอะไร บางครั้งก็ดูเนิ่นานเกินไป ทำให้เกรงใจกว่าจะพูด หรือพ่อแม่ก็กลัวลูกรำคาญเวลาจะทักตอนลูกกำลังทำอย่างอื่น เลยรู้สึกว่าไม่กล้าเข้าไปคุยกับลูกเองเสียอีก สรุปได้ว่า นอกจากการฟังเหตุผลของกันและกันอย่างตั้งใจแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกันค่ะ อย่าหมางเมินที่จะคุยเล่นและมีเวลาร่วมกันบ้าง


http://www.dek-d.com/education/36530/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น